ประวัติ ของ ซี56 31

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กรมรถไฟ กระทรวงคมนาคม ได้ประสบความเสียหายในเรื่องของทางรถไฟ,สะพาน, อาคารสถานี, ที่ทำการ, รถจักร, ล้อเลื่อน เนื่องจากการโจมตีทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นอย่างมาก เมื่อสงครามได้ยุติลง จึงปรากฏว่ากรมรถไฟขาดแคลนรถจักรและล้อเลื่อนที่จะมาใช้การรับใช้ประชาชนตามสถานะเดิมต่อไป ดังนั้นในปี พ.ศ. 2489 ด้วยความเอื้อเฟื้อของสหประชาชาติได้จำหน่ายรถจักรไอน้ำที่เหลือใช้จากสงครามให้แก่กรมรถไฟจำนวน 68 คัน (รุ่นเลขที่ 380-447) เพื่อบรรเทาการขาดแคลนดังกล่าว รถจักรเหล่านี้เป็นชนิดมิกาโด (2-8-2) ซึ่งเรียกกันโดยเฉพาะในวงการของสหประชาชาติว่ารถจักร “แมคอาเธอร์” เป็นรถจักรที่สร้างโดยบริษัทต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา ตามรายการจำเพาะที่กำหนดขึ้นโดยทางการทหารแห่งสหรัฐ

นอกจากนี้ยังได้รับรถจักรที่เหลือใช้จากสงครามของฝ่ายญี่ปุ่น ซึ่งนำมาใช้การในเอเซียอาคเนย์นี้ 50 คัน คือ รถจักรญี่ปุ่น รุ่นเลขที่ 701-746 (C-56) และ รุ่นเลขที่ 761- 764 (C-58)และเป็นรถจักรของการรถไฟสหพันธรัฐมลายู ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นนำมาใช้การในประเทศไทยระหว่างสงครามอีก 18 คัน คือรุ่นเลขที่ 801 (เจ้าของเดิมเรียกว่ารุ่น "P")

เนื่องจากเดิมทีรถจักรไอน้ำ C56 ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้งานภายในประเทศญี่ปุ่นในช่วงปี พ.ศ. 2478 ซึ่งในเวลานั้นประเทศญี่ปุ่นได้เปลี่ยนมาใช้งานระบบห้ามล้อลมอัดหมดแล้ว รวมถึงได้เปลี่ยนเครื่องพ่วงจากแบบขอและห่วงคานเกลียวมาเป็นแบบอัตโนมัติ จึงต้องเปลี่ยนขอพ่วงแบบอัตโนมัติมาเป็นขอพ่วง ABC แทน ซึ่งมีระดับที่ต่ำกว่าเดิมต้องวางช่องของรังเครื่องพ่วงขึ้นมาใหม่ เมื่อรถจักรไอน้ำ C56 จำนวน 90 คันได้ถูกส่งมาใช้งานในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยเหตุผลที่มีน้ำหนักกดเพลาไม่มากเกินไปนักกับสภาพเส้นทางนี้เพราะในสมัยนั้นรางของประเทศไทยรับน้ำหนักกดเพลาสูงสุดได้แค่เพียง 10.5 ตันเท่านั้น ในขณะที่รถจักร C56 มีน้ำหนักกดเพลาที่ 10.6 ตัน (เคยมีการนำเอารถจักรไอน้ำ C58 มาวิ่งจำนวน 4 คัน แต่ภายหลังได้นำกลับไปเพราะมีน้ำหนักกดเพลาถึง 13.5 ตัน) นอกจากนั้นก็ต้องทำการเปลี่ยนแปลงระบบห้ามล้อที่ใช้สั่งการรถพ่วงจากเดิมที่เป็นห้ามล้อลมอัดมาเป็นระบบห้ามล้อสูญญากาศ โดยติดตั้งเครื่องไล่ลมเข้าไปเพราะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเวลานั้นยังคงใช้ระบบห้ามล้อสูญญากาศอยู่ ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย , พม่า , กัมพูชาและมาเลเซีย

การรถไฟแห่งประเทศญี่ปุ่นสร้างรถจักร C56 มาเพื่อใช้งานกับรางที่มีความกว้างขนาด 1.067 เมตร ดังนั้นเมื่อนำมาใช้งานกับรางที่มีขนาดความกว้าง 1 เมตรในประเทศไทยจึงต้องทำการปรับล้อเพื่อให้สามารถใช้กับราง 1 เมตรได้ ( วิธีการนั้นไม่ได้ใช้วิธีการอัดแว่นล้อเข้ามาเหมือนกับที่ดำเนินการกับรถโดยสาร JR-West ในปัจจุบันนี้ ) แว่นล้อของรถจักร C56 ยังเป็นของเดิมที่ใช้กับราง 1.067 เมตร แต่ใช้วิธีการสร้างปลอกล้อขึ้นมาใหม่โดยให้มีขนาดความกว้างของพื้นล้อมากกว่าเดิมเพื่อให้เกาะกับรางขนาด 1 เมตรได้ ดังนั้นถ้าใครสังเกตก็จะเห็นว่าพื้นล้อของล้อกำลังรถจักรไอน้ำ C56 หมายเลข 713และ 715 ที่โรงรถจักรธนบุรี รวมทั้งที่จอดตั้งแสดงตามที่ต่างๆในประเทศไทยจะมีพื้นล้อกำลังที่กว้างกว่ารถจักรไอน้ำรุ่นอื่นๆ